พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในการคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Right to object)

สิทธิในการคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Right to object) เจ้าของข้อมูลสามารถคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อไหร่ก็ได้ รวมถึงสามารถทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ ยกเว้นมีเหตุอันควรทางกฎหมายที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น  

สิทธิในการได้รับและโอนถ่ายข้อมูล (Right to data portability) พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สิทธิในการได้รับและโอนถ่ายข้อมูล (Right to data portability) ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลต้องการนำข้อมูลที่เคยให้ไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลรายหนึ่ง ไปใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลอีกราย เช่น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายแรกได้ทำจัดทำข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปในอยู่ในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่จัดทำข้อมูลนั้น ทำการส่งหรือโอนข้อมูลดังกล่าวให้ได้ หรือจะขอให้ส่งไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายอื่นโดยตรงก็สามารถทำได้ หากไม่ติดขัดทางวิธีการและเทคนิค โดยการใช้สิทธินั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย สัญญา หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

สิทธิในการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Right of access) พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สิทธิในการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Right of access) เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเองจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสามารถขอให้เปิดเผยถึงการได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวในกรณีเกิดความไม่แน่ใจว่าตนเองได้ให้ความยินยอมไปหรือไม่ โดยสิทธิการเข้าถึงข้อมูลนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือคำสั่งศาล  และการใช้สิทธินั้นต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

สิทธิที่จะได้รับการแจ้งให้ทราบ (Right to be informed)  พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สิทธิที่จะได้รับการแจ้งให้ทราบ (Right to be informed) การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้งรายละเอียดในการเก็บข้อมูล ตลอดจนการนำไปใช้ หรือเผยแพร่ให้เจ้าของข้อมูลทราบก่อนหรือขณะเก็บรวบรวมข้อมูล (ยกเว้นกรณีที่เจ้าของข้อมูลทราบรายละเอียดนั้นอยู่แล้ว เช่น เพื่อนำไปเปิดบัญชี หรือสมัครใช้ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ) โดยเจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะทราบวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล, การนำไปใช้ หรือเผยแพร่, สิ่งที่ต้องการจัดเก็บ, ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล ตลอดจนรายละเอียดของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เช่น สถานที่ติดต่อ และวิธีการติดต่อ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ให้ข้อมูล  

พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ในฐานะเจ้าของข้อมูล เรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง?

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) ที่มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นั้น เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะที่เป็น ลูกค้า พนักงาน หรือผู้รับผิดชอบดูแลงานในนิติบุคคล ก็ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยกันทุกคน สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ การให้ความคุ้มครองข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์ติดต่อ อีเมล การศึกษา ประวัติการทำงาน ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม รวมถึงไปถึง ลายนิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล ที่อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนรำคาญหรือสร้างความเสียหายได้

บทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม PDPA พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

บทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม PDPA เพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปใช้ในทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ การให้ข้อมูลแต่ละครั้งจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนให้ข้อมูล เช่นการให้ข้อมูลเพื่อจัดส่งสินค้า หากมีการขอข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับการจัดส่ง เจ้าของข้อมูลก็มีสิทธิปฏิเสธการให้ข้อมูลนั้น และในส่วนของผู้เก็บข้อมูล ก็ต้องรู้ขอบเขตในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล มีระบบในการควบคุม/ยืนยันตัวตนในการเข้าถึงข้อมูล และจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายองค์กรเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม เพราะหากไม่ทำตามอาจได้รับโทษดังนี้ ความรับผิดทางแพ่ง ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และอาจต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นอีก โดยสูงสุดไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง โทษทางอาญา จำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษทางปกครอง ปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท

PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คืออะไร

PDPA (Personal Data Protection Act, B.E. 2562 (2019)) คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อ 27 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 28 พฤษภาคม 2562 แล้วในบางส่วน โดยวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายทั้งฉบับ เหตุผลในการประกาศใช้ PDPA เนื่องมาจากเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ช่องทางสื่อสารต่างๆ มีหลากหลายขึ้น ทำให้การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลทำได้ง่ายขึ้น และหลายครั้งก็นำมาซึ่งความเดือดร้อนรำคาญหรือสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูล ตลอดจนสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ด้วย จึงต้องมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่รวมถึงการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลขึ้น ข้อมูลส่วนบุคคล คือข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรม และข้อมูลนิติบุคคล ไม่ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้ ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) ได้แก่ ชื่อ […]

ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมอย่างไรกับพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมอย่างไร? หากอยู่ในฐานะขององค์กร หรือหน่วยงานที่ต้องมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ขอบเขตของการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล มีระบบควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล มีระบบยืนยันตัวตนของผู้ขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงต้องมีการกำหนดนโยบายสำหรับบุคคลภายในองค์กรที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแล้ว เนื่องจากมีข้อบังคับต่าง ๆ ที่หากละเมิดแล้ว จะมีผลให้เกิดโทษอาญา โทษทางปกครอง ซึ่งมีโทษปรับมากถึง 5 ล้านบาท ในอนาคต (ซึ่งไม่น่าจะเกิน 2 ปีจากนี้) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะออกระเบียบข้อบังคับ แนวทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคล (รวมถึงองค์กรที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล) ดังนั้นองค์กรควรปรับตัวและพัฒนาให้มีมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับสากล เพื่อให้ได้การรับรองตามมาตรฐาน ISO 27001 หรือ ISO 29100 เป็นต้น

บุคคลทั่วไป ต้องทำอะไรบ้างกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

บุคคลทั่วไป ต้องทำอะไรบ้าง? ในฐานะบุคคลทั่วไปหรือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ก่อนจะให้ข้อมูลสำคัญ ควรมีการเก็บบันทึกเป็นหลักฐานไว้ หรือมีการขอสำเนาของเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อใดพบว่าข้อมูลส่วนบุคคลได้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็จะได้ใช้เป็นหลักฐานในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และมีสติรอบคอบในการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่เว็บไซต์/แอปพลิเคชัน ที่มีการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น การทำงานของเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน เช่น ปัจจุบันนี้ หลายแอปพลิเคชันจะเชื่อมต่อระบบสมาชิกกับเฟซบุ๊ก มีการขอชื่ออีเมลและรายชื่อเพื่อนในเฟซบุ๊กของเรา หากเราเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องให้ข้อมูลรายชื่อเพื่อน ก็สามารถคลิกเพื่อไม่ยินยอม และยินยอมให้เฉพาะอีเมลเพื่อการเข้าระบบของแอปพลิเคชันนั้น ๆ ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตัวเจ้าของข้อมูลต้องทำหน้าที่ “คุ้มครองข้อมูลของตนเอง” ด้วย ไม่ด่วนยินยอมหรือให้ข้อมูลโดยที่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของขอบเขตการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล