มาตราใดบ้างที่เลื่อนบังคับใช้ไปอีก 1 ปี

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงความจำเป็นในการออกร่างพระราชกฤษฎีกา จึงขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ในหมวด 2 การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 3 สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 5 การร้องเรียน หมวด 6 ความรับผิดทางแพ่ง หมวด 7 บทกำหนดโทษ  และความในมาตรา 95 และมาตรา 96 ออกไปอีก 1 ปี ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ

ถือเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เนื่องจากหากมีการบังคับใช้ตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่ทุกภาคส่วนยังไม่พร้อม อาจทำให้เกิดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้โดยไม่ตั้งใจ รวมทั้งอาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ทุจริตแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเรื่องที่ภาคอสังหาฯ ต้องปรับตัว

ถึงแม้ว่าจะมีข้อยกเว้นมากมาย ต่างไปจากประเทศที่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด แต่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญอย่างยิ่งที่สร้างความคุ้มครองทางกฎหมายให้แก่ข้อมูลส่วนบุคคลที่เคยเป็นปัญหามาตลอดในประเทศไทย

ถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคล และยังเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองสิทธิบางอย่างไปจากหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมให้เป็นคุณกับประชาชนมากขึ้น เช่น

– อายุความฟ้องคดี 3 ปี นับแต่รู้ (จากเดิม 1 ปีนับแต่รู้)

– การรับรองสิทธิให้เรียกค่าเสียหายแพ่ง ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ใช้จ่ายไปตามความจำเป็นเพื่อป้องกันความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วด้วย (ซึ่งน่าจะรวมถึงค่าว่าจ้างทนายความตามที่จำเป็นด้วย)

– การให้อำนาจศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษได้ (ไม่มีอยู่การเรียกร้องความเสียหายจากละเมิด)

กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่สำคัญในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างยิ่ง และผู้ประกอบการในวงการอสังหาริมทรัพย์ควรจะต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับกฎหมายใหม่ฉบับนี้ต่อไป

Related Articles