วิธีการปฏิบัติเมื่อประชาชนมายื่นคำขอ

วิธีการปฏิบัติเมื่อประชาชนมายื่นคำขอ
(1) พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับคำขอ
1.1 ตรวจสอบคำขอ (แบบคำขอให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในคู่มือสำหรับประชาชนของ
แต่ละกระบวนงาน)

1.2 จัดทำแบบตรวจสอบคำขอและบันทึกข้อบกพร่องสำหรับคู่มือฯ ประกอบด้วยส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 (แบบตรวจสอบคำขอและบันทึกข้อบกพร่องสำหรับคู่มือฯ ของแต่ละกระบวนงาน พร้อมคำชี้แจงในการกรอก ในภาคผนวก 2) เพื่อใช้ตรวจสอบรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นมาพร้อมคำขอว่าถูกต้องครบถ้วนตามที่คู่มือสำหรับประชาชนกำหนด โดยให้ทำเป็น 2 ฉบับ ต้นฉบับเก็บที่สำนักงาน และส่งสำเนาให้กับผู้ยื่นคำขอ
1.3 ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้แจ้งผู้ยื่นคำขอแก้ไขทันที (เรียกได้ครั้งนี้
ครั้งเดียว หากเลยระยะเวลานี้แล้วจะเรียกไม่ได้) หากผู้ยื่นคำขอไม่สามารถแก้ไขได้ทันที ให้บันทึกข้อบกพร่อง
ในแบบตรวจสอบคำขอและบันทึกข้อบกพร่องสำหรับคู่มือฯ ในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ซึ่งถือว่าเป็นบันทึกสองฝ่ายระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ยื่นคำขอ
          (2) หากผู้ยื่นคำขอไม่แก้ไขความบกพร่องหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้ในแบบตรวจสอบคำขอและบันทึกข้อบกพร่องสำหรับคู่มือฯ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คืนคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอพร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือถึงเหตุแห่งการคืนคำขอ (แบบหนังสือคืนคำขอ ในภาคผนวก 3)
(3) เมื่อผู้ยื่นคำขอแนบเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว หรือได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมตามที่ระบุแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมอีกไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ความไม่สมบูรณ์หรือความไม่ครบถ้วนนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือทุจริตของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเป็นผลไม่อาจอนุญาตได้ ให้ผู้อนุญาตสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้ดำเนินการทางวินัย หรือดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยไม่ชักช้า
(4) ผู้อนุญาตต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่คู่มือสำหรับประชาชนกำหนด และแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบ ภายใน 7 วัน โดยนับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ
ในการแจ้งผู้ยื่นคำขอ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้แจ้งเป็นหนังสือ หน่วยงานจึงสามารถแจ้ง
ได้หลายช่องทาง เช่น ทางโทรศัพท์ ทางอีเมล์ ทางหนังสือ เป็นต้น และควรมีหลักฐานการแจ้งไว้ เพื่อยืนยัน
กับผู้ยื่นคำขอ
                        สำหรับวันที่พิจารณาแล้วเสร็จ มี 2 กรณี
1. กรณีเป็นอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่ง คือวันที่ผู้มีอำนาจลงนาม
2. กรณีเป็นอำนาจของคณะกรรมการ คือวันที่คณะกรรมการมีมติ

หากไม่แจ้ง ให้ถือว่าผู้อนุญาตมีความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
เว้นแต่จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย

(5) กรณีผู้อนุญาตดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่คู่มือกำหนด ให้ผู้อนุญาตแจ้งเป็นหนังสือ (ตามแบบหนังสือขอแจ้งเหตุแห่งความล่าช้า ในภาคผนวก 4) ให้ผู้ยื่นคำขอทราบถึงเหตุแห่งความล่าช้าทุก 7 วัน จนกว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ  และส่งสำเนาให้ สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้ง (วิธีเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามคู่มือการใช้งานระบบส่งสำเนาหนังสือแจ้งล่าช้า ในภาคผนวก 5)
หากไม่แจ้งเป็นหนังสือ ให้ถือว่าผู้อนุญาต มีความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย
(6) ผู้อนุญาตมีหน้าที่ในกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางตรวจสอบการประกอบกิจการหรือ
การดำเนินกิจการของผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นไปตามกฎหมายที่ให้อนุญาตกำหนด และสั่งการตามหลักเกณฑ์
และแนวทางการตรวจสอบดังกล่าวด้วย

Related Articles